วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ทักษะฟุตบอล

ชื่อเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะการเล่นฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองโจดสวนมอน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 1
ผู้ศึกษา นายวิเวค เทียมวงศ์
ปีที่พิมพ์ 2550

บทคัดย่อ

วิชาพลศึกษาเป็นการศึกษาแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการศึกษาแขนงอื่นๆ วิชานี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาโดยรวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา และสังคม ด้วยการเข้าร่วมในกิจกรรมการออกกำลังกายและกีฬา และกิจกรรมเหล่านั้นได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งพลศึกษาเป็นวิชาที่จัดเตรียมประสบการณ์ให้แก่บุคคล โดยเขาเหล่านั้นได้รับประสบการณ์ต่างๆ จากการเรียนทักษะที่ครูเป็นผู้สอน และจัดขึ้นอย่างสนุกสนาน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มีพัฒนาการ เป็นผลดีต่อร่างกาย สังคม จิตใจ และอารมณ์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติกิจกรรมพลศึกษา ส่วนผลทางด้านจิตใจ อารมณ์และสังคมนั้นเป็นผลที่ติดตามมาอย่างใกล้ชิด การศึกษาครั้งนี้ มีความ มุ่งหมาย 1. เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการเล่นฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาพลศึกษา) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2. เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการเล่นฟุตบอลที่สร้างขึ้น 3. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเล่นฟุตบอล 4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจ ในการเรียนรู้ของนักเรียนต่อแบบฝึกทักษะการเล่นฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาพลศึกษา) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สร้างขึ้น กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนบ้านหนองโจดสวนมอน จำนวนนักเรียน 20 คน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วนำเสนอโดยการบรรยาย
ผลการศึกษา ปรากฏดังนี้
1. แบบฝึกทักษะการเล่นฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาพลศึกษา) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 82.11/84.50 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. แบบฝึกทักษะการเล่นฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาพลศึกษา) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีค่าดัชนีประสิทธิผลในการเรียนรู้เท่ากับ 0.6836 ซึ่งหมายความว่า แบบฝึกทักษะการเล่นฟุตบอล ทำให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.36
3. ค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะ การเล่นฟุตบอล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการเล่นฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา(วิชาพลศึกษา) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยรวม อยู่ในระดับมาก
โดยสรุป การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการเล่นฟุตอบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ต่อนักเรียน ทำให้นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียน สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะตามที่ต้องการ